ส่องประวัติศาสตร์ ความเป็นมาของทาจิกีสถาน ผ่านการชมพิพิธภัณฑ์ 

ว่ากันไปแล้วความเก่าแก่ของประเทศทาจิกิสถาน นับย้อนหลังไปถึงยุคก่อนประวัติศาสตร์ นานกว่า 6-7,000 ปี ตั้งแต่ที่มีมนุษย์มาปักหลักอาศัยอยู่ในบริเวณนี้ 

ในช่วงประมาณ 5,500 กว่าปีที่ผ่านมา ได้มีการกำเนิด เมืองโบราณ Sarazm (4,000 BC) ที่จากหลักฐานทางโบราณคดี เชื่อกันว่าเมืองแห่งนี้ มีความเจริญรุ่งเรือง มั่งคั่ง ร่ำรวย ด้วยทรัพยากรธรรมชาติล้ำค่า โดยเฉพาะทองคำที่มีอยู่มากมาย ในแถบหุบเขาซาราฟชาน ที่เป็นที่ตั้งของเมืองโบราณนี้ นักโบราณคดีได้ขุดค้นเจอหลักฐานทางโบราณคดีต่างๆในยุคนั้น รวมทั้ง สุสานที่พบโครงกระดูกของเจ้าหญิงแห่งซาราซซึ่ม (Princess of Sarazm) ซึ่งถูกฝังไว้พร้อมข้าราชบริพาร และสมบัติอัญมณีล้ำค่ามากมาย ไม่ว่าจะเป็น ลูกปัดเงินหรือทองคำ รวมทั้งอัญมณีชนิดอื่นๆ ทำให้รู้ว่าเมืองโบราณแห่งนี้มีความยิ่งใหญ่เพียงใดในอดีต ปัจจุบันทางองค์การยูเนสโก้  (UNESCO) ได้เข้ามาขึ้นทะเบียนรองรับ ให้เป็นมรดกโลกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ถึงแม้ว่าดินแดนแห่งนี้ จะตกอยู่ภายใต้การปกครองของหลายอาณาจักร ตลอดช่วงระยะเวลายาวนานที่ผ่านมา แต่อาณาจักรที่โดดเด่นที่สุด เห็นจะเป็นอาณาจักรของชนชาติเปอร์เซีย นั่นคือ  Sogdiana Kingdom ที่เรียกได้ว่าเชื้อสายของชนชาติชาวทาจิก ล้วนมาจากสายเลือดของเปอร์เซีย ส่งผลให้รากเหง้าของ วิถีวัฒนธรรม ประเพณี ตลอดจนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ เป็นไปในรูปแบบของชาวเปอร์เซียมาจนถึงปัจจุบัน  

จากนั้นเป็นยุคของราชวงศ์อะเคเมนิด (Achaemenid Empire) ช่วงประมาณ 559-329 BC เป็นราชวงศ์ที่มาจากทางเปอร์เชีย กษัตริย์ผู้ก่อตั้งราชวงศ์ คือ พระเจ้าไซรัสมหาราช พระองค์เป็นมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ ที่ทรงรวบรวมแผ่นดินได้กว้างไกล อาณาจักรของพระองค์ครอบคลุมเนื้อที่เกือบทั้งหมดของเอเชียกลาง และบริเวณดินแดนโดยรอบ นับรวมได้ 3 ทวีปด้วยกัน นั่นคือ เอเชีย ยุโรป และแอฟริกา

ต่อมาอีกหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์โลก คือ การบุกเข้ามาของ กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งมาซีโดเนีย “พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช” ในช่วงกว่า 2,400 ปีก่อน พระองค์ทรงนำทัพผ่านมายังบริเวณนี้ และได้แต่งงานกับเจ้าหญิงโรซานน่าแห่งซ็อกเดียน เพื่อให้มีลูกหลาน ผู้ดูแลแผ่นดินนี้สืบต่อ จนต่อมาได้เกิดขึ้นเป็น Greco-Bactrian Kingdom ยังผลต่อวิถีชีวิตของผู้คน รวมทั้งงานศิลป์แขนงต่างๆที่ได้รับอิทธิพลจากกรีก 

ไม่นานนัก ในกาลเวลาต่อมา ก็เกิดอาณาจักรคูชาน (30 BC-410 AD) ซึ่งอยู่นานถึงกว่า 400 ปี อาณาจักรแห่งนี้เติบโตในรุ่นราวคราวเดียวกันกับอาณาจักรโรมัน อาณาจักรปาร์เทียน และอาณาจักรฮั่นในจีน กษัตริย์ในยุคนี้ส่งเสริมศาสนาพุทธ จึงได้มีการเผยแพร่ศาสนาพุทธไปยังดินแดนต่างๆ รวมทั้งได้มีการขุดค้นพบงานประติมากรรม รูปปั้นของพระพุทธเจ้าอีกด้วย

นอกจากนี้ ยังมีการขุดค้นพบอีกหนึ่งอาณาจักรที่สำคัญ นั่นคือ เมืองโบราณเพนจิเค้นท์  (Ancient Penjikent) (5 AD) ซึ่งปัจจุบันเหลือแต่ซากของเมืองที่ยังรอการขุดค้นต่อ อาณาจักรแห่งนี้มีความโดดเด่นในเรื่องของ ภาพจิตรกรรมฝาผนัง ซึ่งมีความสวยงาม มีสีสันสดใส ภาพจิตรกรรมเหล่านี้ ได้บอกเล่าถึงเรื่องราวชีวิตความเป็นอยู่ งานประเพณี เหล่าทวยเทพต่างๆ งานศิลปะในยุคนั้น มีความหลากหลาย มีการผสมผสานกันระหว่างกรีก และอิหร่าน และอินเดีย อีกทั้งมีการค้นพบประติมากรรม รูปปั้นของพระศิวะ อีกด้วย 

อีกจุดเปลี่ยนของประวัติศาสตร์ยุคกลางของที่นี่ คือ การบุกเข้ามาของพวกอาหรับมุสลิม ในช่วงศตวรรษ ที่ 7 ที่ยังผลทำให้คนส่วนใหญ่ในดินแดนแถบเอเชียกลาง นับถือศาสนาอิสลาม มาจนถึงทุกวันนี้ 

มีอีกราชวงศ์หนึ่ง ที่จะไม่ถูกกล่าวถึงไม่ได้เลย นั่นคือ ราชวงศ์ซามานิด (Samanid Dynasty) นำโดยกษัตริย์ที่มีชื่อเสียง ที่ถือว่าเป็นผู้ก่อตั้งอาณาจักรของชาวทาจิก พระองค์มีพระนามว่า กษัตริย์อิสมาอิล โซมานี่ (King Ismail Somani) ทรงเป็นกษัตริย์ผู้มีพระปรีชาสามารถอย่างมาก ทรงรวบรวมอาณาจักรของชาวทาจิกให้เป็นปึกแผ่น  และสามารถขยายอาณาจักรได้ออกไปอีกกว้างไกล ในช่วงศตวรรษ ที่ 9-10 ในเวลานั้นศูนย์กลางของอาณาจักรอยู่ที่เมืองบุคคาร่า โดยมีหัวเมืองสำคัญๆ เช่น ซามาคาน ดินแดนในทาจิกีสถานปัจจุบัน ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของราชวงศ์นี้ไปโดยปริยาย จึงไม่ต้องสงสัยว่า ทำไมเราเห็นรูปปั้นของพระองค์ ตั้งตระหง่านอยู่ใจกลางจุดสำคัญของเมืองหลักแต่ละเมือง รวมทั้งที่เมืองหลวงดูชานเบ  อีกทั้งหน่วยเงินตราของประเทศนี้ ก็ใช้เป็นชื่อพระองค์ Tajikistan Somani

Top